ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ คืออะไร

         ปัจจุบันนี้ทิศทางการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่และมีความยั่งยืน เป็นทิศทางสำคัญและเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองทั่วโลก เหตุผลเพราะความเปลี่ยนแปลง
ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่นี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองทั้งที่เป็นประโยชน์ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการเชื่อมโยงโลกการค้าจากทั่วทุกภูมิภาคหรือจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองได้อย่างง่ายดาย เอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ
ได้ง่ายขึ้น สามารถค้นคว้าศึกษาหาข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งตลอดเวลา ด้านสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมข้ามชาติหรือวัฒนธรรมไร้พรมแดน แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็สร้างปัญหาให้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น ปัญหาประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว สังคมผู้สูงวัย สิ่งแวดล้อมมลพิษ สาธารณูปโภคที่ขาดแคลน ระบบสาธารณสุขที่ยังล้าหลัง ความเหลื่อมล้ำในสังคม การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ  ปัญหาแรงงาน ​ ปัญหาความสามารถในการเข้าถึงบริการต่าง​ ๆ​ ตลอดถึงปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง(Urban Sprawl) ประกอบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่สำคัญของการเรียนรู้ ทั้งเรื่องของสาระการเรียนรู้ วิธีการและเครื่องมือ รวมถึงรูปแบบสถาบัน  ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี ปัญหาการส่งเสริมการเรียนรู้จึงเป็นอีกประเด็นที่สมทบเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง

         ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดกับเมืองต่างๆ ซึ่งมีประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 60% ในปีค.ศ.2030 นั่นคือความท้าทายขนาดใหญ่ในการพัฒนาเมือง มีการศึกษาค้นคว้าหารูปแบบการพัฒนาเมืองในหลากหลายรูปแบบที่สามารถต่อยอดไปสู่เป้าหมายได้ เทศบาลเมืองหลาย ๆ แห่งของโลก เริ่มเห็นว่าการดำเนินการตามกลยุทธ์ ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน องค์การยูเนสโกก็ได้เล็งเห็นว่าเมืองท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

         ดังนั้นการสร้างเมืองให้มีนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้รูปแบบ “เมืองแห่งการเรียนรู้”(Learning City) จึงเป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองอย่างมีหลักประกันเรื่องคุณภาพ ความครอบคลุมและการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้และเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเมืองที่ยั่งยืนและตรงตามความต้องการของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ๆ

         จังหวัดลำปางก็ประสบปัญหาในการสร้างการเติบโตของเมืองเช่นกัน ภาคส่วนต่างๆ ของลำปางมีความพยายามในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจความคิดเห็น จัดเวทีระดมสมอง จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ทำการวิจัย จัดทำโครงการ กำหนดทิศทาง สร้างเอกลักษณ์ จัดฟอรั่ม สัมมนา ขึ้นในลำปาง เพื่อค้นหากลไกที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเมืองลำปาง และค้นหาว่าเมืองลำปางที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนนั้นควรมีรูปแบบอย่างไร จากการศึกษาค้นคว้าด้วยหลากหลายวิธีที่กล่าว เกิดแนวคิดว่าการส่งเสริมให้ลำปางเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” น่าจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในการพัฒนา
เมืองลำปาง เพราะคุณลักษณะของเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเมืองลำปางได้ ภายใต้แนวทางเมืองแห่งการเรียนรู้นี้จะมีการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมลำปาง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้วิทยาศาสตร์ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตลอดถึงมีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพให้เกิดขึ้นในเมืองลำปาง

         เมื่อเมืองลำปางได้รับการส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้แล้ว ก็จะมีวิธีการใหม่ ๆ ในการช่วยให้ประชากรสามารถปรับตัวและนำพาเมืองให้พัฒนายิ่งขึ้นได้ สิ่งที่จะเกิดตามมาจากนั้นก็คือ สังคมเมืองที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย มีการช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีพลเมืองที่มีความแข็งแกร่ง มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติใหม่ ๆ ในหลากหลายบริบท สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม เมื่อถึงช่วงเวลานั้น
การดำเนินการต่อเพื่อนำพาลำปางสู่การพัฒนาเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนก็จะเกิดได้ไม่ยาก

         มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง จึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาวิจัยเรื่อง   “การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม” เพื่อการค้นหากลไกที่สามารถส่งเสริมให้จังหวัดลำปางมีคุณลักษณะสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 6 ประการ ตามที่องค์การยูเนสโก โดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) ได้กล่าวไว้ ได้แก่ 1.การส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา 2.การส่งเสริมการเรียนรู้
ในครอบครัวและชุมชน 3.การอำนวยความสะดวกให้มีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำงาน 4.การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ทันสมัย 5.การส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ และ 6.การสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเข้าใจในบริบทของลำปางเอง ทั้งด้านภูมิสังคม
การศึกษาท้องถิ่น (Local Study) ความจำเพาะของพื้นที่ (Area specificity) และเพื่อสร้างการขับเคลื่อนในลำดับต่อไปให้ลำปางเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้”อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบริหารจัดการเมืองลำปางที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีโครงสร้างการกระจายรายได้เกิดระบบจ้างงานที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง
มีการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการเติบโตของเมืองลำปางอย่างยั่งยืน

         การวิจัยการพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหากลไกในการบริหารจัดการ สร้างกระบวนการขับเคลื่อนและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อได้มาซึ่งรูปแบบแนวทางการพัฒนาเพื่อเป็นฐานในการต่อยอดในการพัฒนาลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ รวมทั้งได้พื้นที่นำร่อง
เพื่อการศึกษาและเป็นต้นแบบในการขยายพื้นที่การเรียนรู้ในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้รวมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมโดยกระบวนการมีส่วนร่วม และพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง (Learning Space) ในย่านเมืองสำคัญของลำปางเพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ในการศึกษาประกอบด้วยชุดโครงการย่อยจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

         1) โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

         2)โครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์มีชีวิตย่านสบตุ๋ย

         3) โครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากทุนทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยเสน่ห์ทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตย่านท่ามะโอ

         โดยในแต่ละโครงการ จะมีการดำเนินการวิจัยในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาและพัฒนาระบบและกลไกในการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางไปสู่รูปแบบการพัฒนาเมืองอย่างมีหลักประกันเรื่องคุณภาพ ความครอบคลุม และการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตของเมืองที่ยั่งยืนและตรงตามความต้องการของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองลำปาง และเกิดการปรับเปลี่ยนให้ลำปางเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้”อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบริหารจัดการเมืองลำปางที่มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการเติบโตของเมืองลำปางอย่างยั่งยืน