รถไฟเป็นเหตุ ให้สังเกต(สบตุ๋ย) ได้

พ.ศ.2448        โครงการเร่งรัดก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ ถึงปากน้ำโพ

                   ภายหลังเหตุการณ์จราจลในมณฑลพายัพครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลสยามตระหนักถึงความด้อย    ประสิทธิภาพในการเดินทาง และความสำคัญของการเข้าถึงด้วยรถไฟ จึงเป็นเหตุให้เกิดการ    เร่งรัดโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือขึ้น

                   (ที่มา : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์, 2561. น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่)

          (ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พ.ศ.2453        ก่อตั้ง ตลาดเก๊าจาวหรือตลาดรัตน์

รถไฟสายเหนือมาถึงนครลำปางเมื่อ พ.ศ.2459 ส่งผลต่อการขยายตัวทางการค้าและเคลื่อนย้ายผู้คนเข้ามายังบริเวณย่านสบตุ๋ย โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนระลอกใหม่ที่มาจากทางภาคกลาง เช่น พิษณุโลก พิจิตร ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ย่านสบตุ๋ยจึงเจริญขึ้นเป็นแหล่งร้านค้าส่งขนาดใหญ่ สินค้าประเภทของป่าและผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว สุกร ครั่ง สีเสียด ยาสูบ เขาสัตว์ หนังสัตว์ ถูกนำมารวบรวมไว้เพื่อเตรียมขนส่งต่อไปทางรถไฟ ขณะที่สินค้าจำเป็นอื่นๆ เช่น เกลือ น้ำมันก๊าด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นของทันสมัยจากกรุงเทพฯ ก็ถูกลำเลียงขึ้นมาทางรถไฟเช่นเดียวกัน โดย “ตลาดเก๊าจาว” มีการเล่าต่อกันมาว่า เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างทางรถไฟที่เริ่มต้นเมื่อราว พ.ศ.2450 แรกเริ่มเป็นตลาดที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติของสังคม เมื่อเกิดแหล่งชุมนุมของผู้คนย่อมมีผู้คนมาปักหลักทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า

          (อ้างอิง : อภิญญา นนท์นาท, “เก๊าจาว” กาดเก่าในย่านรถไฟนครลำปาง. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46     ฉบับที่ 4 ตุลาคม  – ธันวาคม 2563 น.82)

          ทั้งนี้ตลาดเก๊าจาวมีชื่อจริงว่า ตลาดรัตน์ ตั้งชื่อตามหลวงเสรี เริงฤทธิ์รัตนยนต์ ผู้ว่าราชการรถไฟ

          (ที่มา : เวทีป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 25 เก๊าจาว กาดหมั้วร้อยปี, 2554)

พ.ศ.2457        การเริ่มก่อสร้างถนนทางหลวง เส้นทางเชื่อมไปยังจังหวัดพะเยาและเชียงรายตอนเหนือ

                   การเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟสายเหนือ ก่อให้เกิดทางหลวงอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐที่มุ่งหวังจะ   สร้างเครือข่ายการเดินทางร่วมกัน โดยใช้ทางหลวงเป็นตัวจ่ายการเดินทางจากรถไฟไปยังจุด   ต่างๆ ทางหลวงสำคัญ คือ เส้นทางที่เชื่อมไปยังพะเยาและเชียงราย ระยะทางรวม 83 กิโลเมตร

                   (อ้างอิง : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์, การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ “ผังเมืองลำปาง” สมัยใหม่ (พ.ศ.2442 – 2557) กรณีศึกษาเขตผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง)

พ.ศ.2459        เปิดทำการสถานีรถไฟนครลำปาง

                   สถานีรถไฟนครลำปาง เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2458 และเปิดทำการเดินรถตั้งแต่ พ.ศ.2459 โดย เป็นสถานีปลายทางของขบวนรถไฟสายเหนือ (ก่อนจะขยายการก่อสร้างต่อไปถึงนครพิงค์หรือ  เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2464) อันเป็นพื้นที่ชุมทางขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด และเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของเมือง ด้วยการเป็นจุดขนถ่ายสินค้าและส่งเสริมการเดินทางของ  ผู้คนจากกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ และการอพยพเข้ามาทำมา  ค้าขายของชาวจีนในย่านสบตุ๋ย

                   (ที่มา : จิราพร แซ่เตียว, เกร็ดประวัติศาตร์สถานีรถไฟนครลำปาง. วารสารเมืองโบราณ. 27 ก.ค. 2020 (ออนไลน์))

                                เมื่อรถไฟมาถึงลำปาง “รถม้า” เดิมที่ใช้เป็นพาหนะสัญจรในระยะทางใกล้ๆ ในตัวเมืองอยู่ก่อน  ก็ขยับขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้น กลายเป็นรถโดยสารรับจ้างขนส่งผู้คนและสินค้าระหว่างตัวเมือง  กับสถานีรถไฟใน “ย่านสบตุ๋ย” ด้วยสามารถบรรทุกสิ่งของได้มาก อีกทั้งสะดวกรวดเร็วกว่าเกวียน ทำให้รถม้าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

                   (ที่มา : อภิญญา นนท์นาถ, รถม้าลำปาง. วารสารเมืองโบราณ. 9 ก.ค.2021 (ออนไลน์))

พ.ศ.2460        ปริมาณการส่งออกหมูจากจังหวัดลำปางมากที่สุดในภาคเหนือ

                   รายการสินค้าออก พบว่า นครลำปาง มีปริมาณการส่ง “หมู” ออกมากที่สุดในภาคเหนือ โดยทาง  รถไฟ จำนวน 4,203 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 10,178 ตัว ในปี พ.ศ.2461 และในปี พ.ศ.2473 ลำปางมี  การส่งหมูออกมากถึง 34,342 ตัว

                   (ที่มา : กนกวรรณ จงเจริญยิ่งยง, 2551. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเมืองนครลำปาง. 2 ฟาแม่น้ำวัง 2 ฝั่งนครลำปาง. ไพโรจน์ ไชเมืองชื่น (บรรณาธิการ))

พ.ศ.2466        การสร้างโรงเรียนจีนแห่งแรกในจังหวัดลำปาง และตั้งอยู่ในพื้นที่สบตุ๋ย คือ โรงเรียนยกส่าย(ปัจจุบัน คือ โรงเรียนมัธยมวิทยา)

                   กล่าวกันว่า ในระยะแรก ลูกคนจีนในลำปางเรียนภาษาจีนที่ จือป้อเสีย ที่บริษัทจังหวัดลำปาง ก่อนจะมีโรงเรียน ในปี พ.ศ.2466 ที่พ่อค้าชาวจีนไหหลำซื้อที่ดินสร้างโรงเรียนจีนแห่งแรกในลำปาง เรียกว่า โรงเรียนยกส่าย สอนภาษาจีนกลางและจีนไหหลำ (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนมัธยมวิทยา)

พ.ศ.2469        การเสด็จของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง

                   การเสด็จเยือนหัวเมืองต่างๆ ของเจ้านายกรุงทพฯ ที่สะดวกและย่นระยะเวลาได้มากขึ้น เช่น การเสด็จโดยรถไฟของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาในปี พ.ศ.2463 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในปี พ.ศ.2464 และเสด็จของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7   ณ จังหวัดลำปางในปี พ.ศ.2469 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแสดงอำนาจทางการเมืองในฐานะเจ้าผู้ปกครองต่อผู้ถูกปกครอง ที่จะต้องมีการเฝ้ารับเสด็จ การตระเตรียมพิธีการให้สมพระเกียรติ

พ.ศ.2470        การก่อตั้งโรงเรียนจีนขึ้นอีกแห่งในชื่อว่า โรงเรียนฮั่วเคี้ยว

                   ในปี พ.ศ.2468 ที่บ้านไม้ชั้นเดียวในย่านสบตุ๋ย เป็นที่ตั้งของชมรมชาวจีนโพ้นทะเล ด้านหลังห้องอ่านหนังสือพิมพ์ได้เริ่มมีการสอนหนังสือให้แก่เด็กนักเรียนจีน โดยนายชูล้ง แซ่ลี้ ชาวจีนแต้จิ๋วในบังคับสยามเป็นครูผู้สอน ในชื่อเรียกโรงเรียนว่า “ฮั่วเคี้ยวจือป้อเสียสบตุ๋ย” เรียกสั้นๆ ว่า “จือป้อเสีย” เมื่อเรื่องรู้ไปถึงธรรมการจังหวัด จังได้สั่งยุติการสอน เนื่องจากไม่ได้มีการจดแจ้ง  จัดตั้งโรงเรียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ และได้มีการชี้แจงต่อทางการ จนสามารถจัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นอีกแห่งได้ในปี พ.ศ.2470 คือ “โรงเรียนฮั่วเคี้ยว” ซึ่งเป็นของกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว จีนแคะ และ จีนกว้างตุ้ง

                   (ที่มา : ชัยประสาน สุรวิชัย, 2563. ลำปางทำให้ฉันคิดถึงย่า)

 

พ.ศ.2473        ก่อตั้งธนาคารสยามกัมมาจลที่นครลำปาง

                   เมื่อระบบการปกครองทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ถ่ายโอยความสัมพันธ์มาสู่กรุงเทพฯ  มากขึ้น แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก คือ เงินตราที่ใช้ในภูมิภาคยังคงใช้เงินรูปี หรือเงินแถบที่เป็น ระบบเงินตราที่พึ่งพิงกับอังกฤษและเมืองพม่า นำไปสู่การก่อตั้งธนาคารสยามกัมมาจลที่นครลำปางในช่วงปี พ.ศ.2473

                   และการครอบงำการค้าส่วนใหญ่ของชาวจีนในลำปาง เช่น ธุรกิจค้าข้าว ธุรกิจโรงสี ค้าลูกไม้ และโรงฟอกหนัง ตลอดจนควบคุมหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เหลือเพียงอุตสาหกรรมป่าไม้เพียงอย่างเดียวที่ยังอยู่ในการควบคุมของอังกฤษและพม่า เนื่องจากชาวจีนไม่ค่อยให้ความสนใจ

พ.ศ.2486        การออกกฎหมายกีดกันคนต่างด้าว (โดยเฉพาะชาวจีน)

                การออกกฎหมายกีดกันคนต่างด้าว (โดยเฉพาะชาวจีน) โดยเริ่มใช้กับภาคเหนือเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2486 ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่  อุตรดิตถ์

พ.ศ.2488        การรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสร้างสวัสดิการร่วมกันภายในกลุ่ม อาทิ ศาลเจ้า หรือศาสนสถานของชาวจีน เพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิบ ของชาวจีนไหหลำ ศาลเจ้าปูนเฒ่ากง ของชาวจีนแต้จิ๋วและจีนแคะในพื้นที่สบตุ๋ย

                   (ที่มา : On Lampang Article เปิดโลกลำปาง ผ่าน “สุ้มเสียงจากบทความ”, http://olparticle.blogspot.com/2006/12/3_09.html)

พ.ศ.2519        การจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาวิทย์ – มัธยมวิทยา

                        ความพยายามในการรวมทั้งสองโรงเรียนจีนในลำปางเข้าด้วยกันก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในที่สุดโรงเรียนทั้งสองก็ถูกสั่งปิดในช่วงสงคราว และโรงเรียนยกส่ายถูกยึดเป็นฐานที่พักพิง  จึงถึง พ.ศ.2489 พ่อค้าจีนก็ขอเปิดโรงเรียนทั้งสอง โดยรวมเป็นโรงเรียนเดียวกันในนาม                                     “โรงเรียนยกฮั้ว” หรือโรงเรียนประชาวิทย์ (หรือกงลิยิหวา) เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา   ขณะที่ใช้โรงเรียนยกส่าย เป็นที่ตั้งสโมสรชาวจีน (หวาเฉียวจี้เลาะปู้) ชื่อ สโมสรสหมิตร                                  ในปี พ.ศ.2495 จึงขอใช้พื้นที่โรงเรียนยกส่าย เป็นที่ตั้งโรงเรียนและใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยม   วิทยา” จนในที่สุด ความพยายามดังกล่าวก็ปรากฏเป็นเครือข่ายในนาม มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาวิทย์ – มัธยมวิทยา เมื่อปี พ.ศ.2519

                   (ที่มา : On Lampang Article เปิดโลกลำปาง ผ่าน “สุ้มเสียงจากบทความ”,http://olparticle.blogspot.com/2006/12/3_09.html)

          ดังนั้น จากช่วงระยะเวลาหนึ่งภายหลังการมาถึงของรถไฟลำปาง สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนครลำปาง ซึ่งสามารถสรุปได้ 4 ประการสำคัญ คือ

          (1) รถไฟทำให้การติดต่อระหว่างลำปางกับกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วขึ้น

          (2) การมาถึงของรถไฟทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองจากตลาดจีน หรือ ชุมชนจีนแห่งแรก ไปสู่ตำบลสบตุ๋ย หรือ ชุมชนจีนแห่งที่สอง

          (3) หลังจากที่รถไฟมาถึงทำให้เมืองนครลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าในภาคเหนือ ส่งผลให้ปริมาณสินค้า และชนิดของสินค้าทั้งเข้าและออกจากลำปางมีมากขึ้น

          (4) การคมนาคมโดยทางรถไฟส่งผลให้การค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างลำปาง และ พม่าลดน้อยลง ในขณะที่การค้ากับสยามเพิ่มมากขึ้น การมาถึงของรถไฟมิได้นำมาเพียงแต่สินค้าที่หลากหลาย และมีจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ได้นำพาโอกาสของชาวจีนจำนวนมากขึ้นมาประกอบอาชีพในลำปาง ชาวจีนเหล่านี้เองที่สร้างผลกระทบที่สำคัญของการค้าในลำปางที่แต่เดิม ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอังกฤษ และพ่อค้าชาวพม่า ชาวจีนอาศัยความสามารถทางการค้า ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าของตลาดในกรุงเทพ โดยใช้ช่องทางความสามารถของตนที่เคยทำการค้าขายในกรุงเทพฯ มาเป็นความได้เปรียบพ่อค้าพม่าในท้องถิ่นซึ่งเคยชินกับการค้าทางไกลแบบเก่าสู่เมืองมะละแหม่ง ความสามารถของชาวจีนในการค้า และการติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ ที่สะดวกรวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น ทำให้การค้ากับเมืองในพม่าและการใช้เงินรูปีค่อยๆ หมดความสำคัญลง

          ดังนั้น ชาวจีนจึงสามารถครอบครองการค้าส่วนใหญ่ของลำปาง เช่น การค้าข้าว ธุรกิจโรงสี การค้าครั่ง กิจการโรงฟอกหนัง และการเข้าครอบครองหุ้นของกิจการโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 เป็นต้นมา คงเหลือเพียงกิจการป่าไม้เท่านั้นที่คนจีนยังไม่สามารถเข้าถึง และคงอยู่ในมือของบริษัทอังกฤษและชาวพม่าเท่านั้น

          สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับความเจริญเติบโตของทางการค้าของชาวจีนในลำปาง คือ การรวมกลุ่มสังคมของคนจีนที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการพัฒนาจากสโมสรจีนประชา และห้องอ่านหนังสือพิมพ์ กลายเป็นโรงเรียนจีนที่เป็นทางการมากขึ้น ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งอย่างถูกต้อง ได้แก่ โรงเรียนยกส่ายของกลุ่มภาษาไหหลำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มที่ใหญ่ และมีอิทธิพลของจังหวัดลำปาง และ โรงเรียนฮั่วเคี้ยวของกลุ่มจีนภาษาอื่นๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนในเชียงใหม่ในการฝ่าฟันอุปสรรคจนกระทั่งก่อตั้งโรงเรียนฮั่วเคี้ยวได้สำเร็จ ถึงแม้รัฐบาลสยามจะมีการเริ่มเข้าควบคุมโรงเรียนจีนในลำปางอย่างจริงจัง เพราะกลัวอิทธิพลของชาตินิยมจีน และก๊กมินตั๋ง แต่โรงเรียนเหล่านี้สามารถอยู่รอดมาได้ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจีนที่เผยแพร่ความรู้ ความคิด ตลอดจนอุดมการณ์ทางด้านการเมืองของชาวจีนจากรุ่นสู่รุ่น

(อ้างอิง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์.

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเมืองนครลำปาง : หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ถึง พ.ศ.2503)