หลักการและเหตุผล

ชุมชนท่ามะโอ ชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำวัง ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง เกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองลำปาง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอันมีฐานมาจากภูมิสังคมวัฒนธรรมซึ่งมีที่มาจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และเรื่องราวของเมืองแห่งอุตสาหกรรมไม้ ในครั้งที่เศรษฐกิจของภูมิภาคตอนเหนือของไทยรุ่งเรืองจากกิจการค้าไม้ เป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ร่วมกับชาวอังกฤษ ไทยใหญ่ จีน ฝรั่ง ปะโอ และขมุ เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันการกลืนกลายของสัญชาติ หลอมรวมเป็นสัญชาติไทยแล้ว แต่ชุมชนแห่งนี้ยังคงหลงเหลือซึ่งเงาแห่งอดีตที่เคยรุ่งเรือง ผ่านเรือนไม้สักเก่าอันทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมอันงดงามมากมาย อาทิ บ้านเสานัก เรือนไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดลำปาง ท่ามกลางต้นสักใหญ่ที่ยืนตระหง่าน วัดวาอารามต่าง ๆ ที่สำคัญของจังหวัดลำปางแทรกตัวรายล้อมอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามซึ่งมีประวัติความเป็นมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางโบราณ และเป็นจุดกำเนิดของพระแก้วดอนเต้าวัดคู่เมืองลำปางที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงตราบจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนที่ยังดำเนินเนิบนาบ ตามวิถีของบรรพบุรุษที่แฝงตัวให้เห็นอยู่ในวิถีปัจจุบัน วิถีแห่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณสถานที่สำคัญที่สะท้อนถึงเรื่องราว ที่มา และประวัติศาสตร์ของบริบทพื้นที่มีมีมาอย่างยาวนาน เช่น วัดสุชาดาราม กู้เจ้าย่าสุตา บ้านเสานัก บ้านหลุยส์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีแหล่งรวมวัฒนธรรมที่สำคัญนั่นคือ ถนนสายวัฒนธรรมท่ามะโอ แหล่งงรวมสินค้าพื้นเมืองของชุมชนท่ามะโอ พร้อมด้วยการแสดงพื้นเมืองที่สะท้อนถึงประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ดำเนินมายาวนาน เช่น การฟ้อนรำพื้นเมือง การละเล่นดนตรีพื้นเมือง และการแสดงศิลปะการต่อสู้โบราณ นอกจากนี้ชุมชนท่ามะโอยังมีแหล่งอาหารพื้นเมืองที่หลากหลาย แปลก เป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปยังย่านถนนคนเดินกาดกองต้าที่อยู่ละแวกใกล้เคียง ถือว่าเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อมโยงความเป็นมาของเมืองลำปางได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางความเจริญ และการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างสังคม ตามบริบทของโลกาภิวัฒน์ ตามวิถีของทุนนิยมมากขึ้น หากแต่ชุมชนแห่งนี้ ยังคงดำเนินวิถีชีวิตในแบบพอเพียงและมีประเพณีอันเก่าแก่ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากการสำรวจพื้นที่ เอกสารรวมถึงคำบอกกล่าวของคนในพื้นที่ย่านท่ามะโอพบว่า ชุมชนแห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าหลายแห่ง อีกทั้งเมื่อศึกษาเชิงลึกในพื้นที่ยังพบว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและปรากฏสู่สายตาของคนภายนอกชุมชน รวมถึงยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ตัวตนที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครของย่านท่ามะโอ ที่ยังหลงเหลือรอการค้นหาและเปิดเผยให้ผู้คนได้สัมผัสอีกนับไม่ถ้วน อาทิ ตำรับอาหารเชิงชาติพันธุ์ รวมถึงการใช้ภาษาหรือคำที่ใช้เรียกอาหารที่มีเอกลักษณ์อันมีที่มาจากอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ (Ethnographic Semantic) เฉพาะถิ่น และยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงประเพณีต่าง ๆ ที่แปลกไปจากชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดลำปาง เช่น ประเพณีต่างข้าวซอมต่อ อันเป็นประเพณีที่ยังคงสืบทอดมาจากชาติพันธุ์ไทยใหญ่ที่ถ่ายทอดมาสู่คนในชุมชนแห่งนี้ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีความเชื่อตามหลักพุทธศาสนาตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยววิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมนั้น ถือได้ว่าย่านท่ามะโอนั้นเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็งและมีการจัดการท่องเที่ยวที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ ผ่านการพัฒนาทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน อาทิ บ้านหลุยส์ ซึ่งได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เสร็จสิ้น และพร้อมสำหรับเป็นพื้นที่กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตให้แก่ย่านทามะโอแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนท่ามะโอเป็นย่านที่มีความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการพัฒนาให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และวัฒนธรรมของเมืองลำปาง เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ลำปางต่อไป

จากการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนในย่านท่ามะโอ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมในการพัฒนาเครือข่ายทางการท่องเที่ยวชุมชนมาโดยตลอด คณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง จึงเล็งเห็นว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรมอันมีคุณค่ายิ่ง มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และยังคงอยู่ในย่านท่ามะโอนั้น ยังไม่ได้รับการบันทึกและเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ และจัดทำในรูปแบบสื่อสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแผนที่ทางวัฒนธรรมจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมของย่านทามะโอ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดกลุ่มและบันทึกข้อมูลอันน่าสนใจดังที่กล่าวไป นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นฐานในการพัฒนาช่องทางการสื่อสารให้แก่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ โดยการพัฒนาหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวด้วย เทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality (AR Tourism Guidebook) ของย่านท่ามะโอ สื่อเกมส์ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมทุนทางสังคมวัฒนธรรมด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ของย่านท่ามะโอ สร้างเรื่องราวเรื่องเล่าจากข้อมูลที่ค้นพบ ต่อยอดสู่การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ และการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงพิพิธภัณฑ์ถาวรและหมุนเวียน ในพื้นที่เรียนรู้ศูนย์กลางของย่านท่ามะโอ ณ บ้านหลุยส์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ศูนย์กลางของประวัติศาสตร์เมืองลำปางต่อไป เพื่อเผยแพร่ให้คนได้รู้จักภูมิทางสังคมวัฒนธรรมอันมีค่าของย่านท่ามะโออย่างแพร่หลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองสามารถสร้างเสน่ห์ทางการท่องเที่ยว ให้คนได้รู้จักกับย่านแห่งนี้ พร้อมเชื่อมโยงไปยังการท่องเที่ยวในชุมชนใกล้เคียงในจังหวัดลำปาง ด้วยรูปแบบสื่อดิจิทอล และสร้างรูปแบบการขายแบบดิจิทอล เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการใช้ช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวสมัยใหม่ได้

โครงการย่อยที่ 3 : พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากทุนทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยเสน่ห์ทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตย่านท่ามะโอ

           วิธีการดำเนินการวิจัยนี้ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีความรู้ในชุมชนท่ามะโอ ผู้อาวุโส และผู้นำกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในย่านท่ามะโอ ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม ทั้ง 5 ภูมิวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ (ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิวงศ์ ภูมิวงศ์ ภูมิปัญญา) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

           ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้แก่ ผู้มีความรู้ในชุมชนท่ามะโอ ผู้อาวุโส และผู้นำกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในย่านท่ามะโอ ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม ทั้ง 5 ภูมิวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ (ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิวงศ์ ภูมิวงศ์ ภูมิปัญญา)

           ในการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งศึกษา เก็บรวมรวมข้อมูลเชิงลึกจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีส่วนต่าง ๆ เช่นกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษาในจังหวัดลำปาง ดังนั้น คณะผู้วิจัยได้จำแนกการดำเนินงานเป็นกิจกรรมย่อย ดังต่อไปนี้

กิจกรรมที่ 1: กระบวนการศึกษาฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมผ่าน 5 ภูมิวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอและจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ

  • สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ได้แก่ รายงานการวิจัย บทความ รายงานวิทยานิพนธ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือ ตำรา ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทางสังคมวัฒนธรรมผ่าน 5 ภูมิวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ (ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิวงศ์ ภูมิวงศ์ ภูมิปัญญา)
  • สรุปข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดกลุ่มข้อมูล แยกตาม 5 ภูมิวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ
  • จัดทำเวทีเสวนาและจัดการสนทนากลุ่ม “ท่ามะโอ ย่านเก่า คุณค่าที่สะท้อนที่มาแห่งเมืองลำปาง” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและสื่อดิจิทัล และพัฒนาแผนที่ทางวัฒนธรรมจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ จำนวน 2 ครั้ง
  •  จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5 ภูมิวัฒนธรรม นักเล่าเรื่องชุมชน ให้ความรู้เชิงทฤษฎี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5 ภูมิวัฒนธรรม ลงสำรวจพื้นที่จริง จัดแสดงสาธิตภูมิของชุมชน สังเคราะห์ข้อมูลจัดทำเรื่องเล่า ฝึกปฏิบัติจริงในสถานที่จริง จำนวน 3 ครั้ง ๆละ 30 คน
  • จัดทำเวทีเสวนาและสนทนากลุ่ม “แผนที่ทางวัฒนธรรมย่านท่ามะโอ จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม” เพื่อนำเสนอร่างแผนที่ทางวัฒนธรรมจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม จำนวน 1 ครั้ง
  • สังเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรม CULTURAL KNOWLEDGE MAP

กิจกรรมที่ 2: พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมย่านท่ามะโอ

  • จัดทำสนทนากลุ่มเพื่อกำหนดรูปแบบการจัดการพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมของย่านท่ามะโอ (รูปแบบการบริหารจัดการ รูปแบบการจัดกิจกรรม และปฏิทินการจัดกิจกรรม) จำนวน 2 ครั้ง
  • จัดกิจกรรม “ข่วงผญ่าภูมิปัญญาท่ามะโอ” จำนวน 6 ครั้ง
  • เปิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ “นิทรรศการหมุนเวียนบ้านหลุยส์”

กิจกรรมที่ 3: พัฒนา AR Tourism Guide Book สร้างเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวชุมชนท่ามะโอและมูลค่าเพิ่มทางเศณษฐกิจ

  • จัดประชุมกลุ่มเพื่อกำหนดรูปแบบและพัฒนา AR Tourism Guide Book สร้างเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวชุมชนท่ามะโอ จำนวน 1 ครั้ง
  • จัดทำ AR Tourism Guide Book สร้างเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวชุมชนท่ามะโอ
  • จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอัตลักษณ์ AR Tourism Guide Book จำนวน 2 ครั้ง

สร้างกลไกการพัฒนาชุมชนพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนสร้างอาชีพและรายได้ต่อยอดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมตลาดชุมชนโดยสร้างโมเดลการพัฒนาชุมชนโดยคนในชุมชนในรูปแบบ Social Enterprise