เมืองแห่งการเรียนรู้ คืออะไร
เมื่อ พ.ศ. 2558 องค์การสหประชาชาติจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับโลกและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ดังกล่าวให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การพัฒนาด้านการศึกษาอยู่ในเป้าหมายที่ 4 (Sustainable Development Goal 4: SDG4) เป็นการสร้างหลักประกันเรื่องคุณภาพ ความครอบคลุม และการสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ
องค์การยูเนสโก ได้เล็งเห็นว่าท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
เมืองแห่งการเรียนรู้ หมายถึง เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา
- ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน
- ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้
- สนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง
ในปัจจุบัน เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้มีทั้งหมด 229 เมือง จาก 64 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
เครือข่ายนี้จะสนับสนุนการบรรลุผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน (Lifelong Learning: LLL) ตลอดจนเป้าหมายที่ 11 ซึ่งมุ่งพัฒนาเมืองและถิ่นฐานให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกัน อย่างปลอดภัย และมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันสู่ความยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกสร้างเมืองของตนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพลเมืองให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติใหม่ๆ ในหลากหลายบริบท เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และส ่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน